Blog

สร้างโมเดลชีวิตและธุรกิจยุค4.0 ด้วยศาสตร์พระราชา (ตอนที่1)

สร้างโมเดลชีวิตและธุรกิจยุค4.0 ด้วยศาสตร์พระราชา (ตอนที่1)

.

เนื้อหาโดยAction เพจ Biz Buddy

.

“นี่คือศาสตร์พระราชา ในมุมที่คุณไม่เคยรู้” เป็นศาสตร์พระราชาที่ถูกประยุกต์ให้ทุกคนในโลกนี้สามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้

.

ศาสตร์ที่สามารถครอบคลุมการดำเนินชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ผนวกเอาไว้เป็นโมเดล เปรียบเป็นเข็มทิศให้ชีวิตและธุรกิจ ที่แฝงไปด้วยหลักธรรมที่จะทำให้ผู้ที่นำไปใช้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน

.

ศาสตร์พระราชา คือสิ่งที่พระราชาทรงสอน สิ่งที่ทรงทำเป็นแบบอย่าง

.

“อย่ายึดติดตำรา” นี่คือ1ใน23 หลักการทรงงานของพระองค์ ที่สอนให้ผมฝึกคิดนอกกรอบ โดยนำความรู้มา ยืดหยุ่นและดัดแปลงได้ตามยุคสมัย ตามสถานะการณ์ของแต่ละบุคคล

.

ผมจึงพยายามรวบรวมทุกคำสอน ทุกแบบอย่าง ทุกการทรงงาน และทุกทฤษฏีของพระองค์ ผนวกและประยุกต์ให้เข้ากับยุค4.0 ในรูปแบบที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการใช้ชีวิตที่เข้าใจง่าย และพยายามแปลงให้เป็นรูปธรรมที่สุด

.

.

ทฤษฏีที่ผมจะยกเป็นโมเดลชีวิตและธุรกิจคือ

.

“ทฤษฎีพอเพียง”

.

ก่อนเริ่มเนื้อหาหลัก ก่อนอื่นลองเช็คตัวคุณดูว่า คุณเข้าใจคำว่าพอเพียงอย่างถูกต้องแล้วหรือยัง

.

สิ่งที่จะทำให้เกิดความพอเพียงได้ต้อง…

.

“ทำให้มากจนเพียงพอ”

“แล้วชีวิตของคุณจะ…พอเพียง”

.

โดยหลักแนวคิดนี้พ่อหลวงทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า

.

“…ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ

ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง

คือทำจากรายได้จาก 200-300 บาท

พัฒนาขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท

คนชอบเอาคำพูดของฉัน

เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ

…พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้

แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น

ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ

เปรียบเหมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่

และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป”

.

พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่9

ณ 17 มกราคม 2544

.

.

จะเห็นจากพระราชดำรัสว่า “พอเพียง” ต้องเกิดจากการพัฒนาตนเองให้เพียงพอต่อเป้าหมาย ถ้ามีไม่พอต้องพัฒนาให้จนมีพอ ถ้ามีแล้วก็ห้ามเกินตัว วิธีแก้เกินตัวต้องพัฒนาตน เพื่อสร้างรายได้จนมีฐานะที่พอเพียง กับสิ่งที่อยากได้อย่างมี

.

หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าพอเพียงคือสมถะ ต้องทำการเกษตร ยิ่งกว่านั้นบางคนคิดว่าพอเพียงทำให้คนไม่ขวนขวาย ทำให้คนไม่พัฒนา

.

ที่น่าห่วงมีหลายคนเอาพอเพียงไปอ้างกับการเกียจคร้าน ทั้งที่ตนและครอบครัวยังลำบาก แต่อ้าง “อยู่แบบพอเพียง” ทั้งที่นี่ไม่ใช่พอเพียง แต่สิ่งนี้คือยังไม่พอ พอทั้งที่ยังขาด ต้องเรียกว่า “ไม่มีความรับผิดชอบ”!!

.

หรืออ้างพอเพียงทั้งที่ไม่เคยขวนขวายอะไรเลย แต่เอาเวลาไปผลาญเล่นอยู่ในวงเหล้า เอาเวลาไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน เอาเวลามาสไลด์มือถือเล่นไปวันๆ

.

มนุษย์ทุกคนมีเวลาที่เท่ากัน จุดสำเร็จอยู่ที่ใครเลือกใช้เวลาได้คุ้มค่ากว่ากัน “คุณเลือกได้จะเผาเวลาทิ้งกับสิ่งไม่ก่อประโยชน์ หรือจะเอาเวลา มาสร้างชีวิต!!”

.

สิ่งที่มีค่าที่สุดของมนุษย์คือเวลา อย่าปล่อยให้คำว่า “รู้อย่างนี้” เกิดขึ้น ในวันที่ต้องเสียคนที่รัก หรือในวันที่ต้องพลาดโอกาสดีๆของชีวิตไป” เริ่มสร้างคุณค่าชีวิตตั้งแต่วันนี้ใช้เวลาให้มีคุณค่าที่สุดกับครอบครัว การสร้างชีวิต สุขภาพ และใช้เวลาเพื่อสร้างโอกาสให้ตนเอง เพราะโอกาสจะไม่มีทางมาหาคุณ ถ้าคุณไม่คิดแสวงหามัน

.

และนี่ละคือ “พอเพียง” เปรียบเป็นทางสายกลาง เป็นตัวช่วยเตือนสติให้ไม่ประมาทในทุกๆย่างก้าวของการดำเนินชีวิต และให้ใช้ชีวิตอย่างสมดุลและสอนให้รู้จักคุณค่าในทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต และใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุด

.

.

และคุณค่าที่ต้องพิจารณา มีด้วยกัน 5 อย่างคือ

.

1 เห็นคุณค่าของเวลา

.

เพราะถ้าเห็นเวลาไม่มีค่า ก็จะประมาทกับชีวิต ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย ไม่สนใจคนรอบข้างและความสำเร็จ เพราะสิ่งพวกนี้จะถูกผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆจนกว่าต้องสูญเสียจึงสำนึก หรืออาจต้องตายไปก่อนอย่างไร้ค่าโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

.

2 เห็นคุณค่าของตนเอง

.

เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่ของตนจนสุดความสามารถ ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุด ไม่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างทรงคุณค่า เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิตในทุกๆด้าน

.

3 เห็นคุณค่าของผู้อื่น

.

คิดแบบใจเขาใจเรา ไม่เบียดเบียด ไม่เอาเปรียบ และมีน้ำใจรู้จักแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์

.

4 เห็นคุณค่าของสินทรัพย์

.

รู้จักคุณค่าของ”เงิน ทอง สิ่งของ และทรัพยากรจากธรรมชาติ” ต้องใช้อย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด และต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะเห็นว่าพอเพียงไม่ได้หมายถึงต้องประหยัด ยอมขาดแคลน ยอมทนลำบาก แต่คือการฉลาดใช้สินทรัพย์อย่างรู้คุณค่า เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ที่สูงสุดต่างหาก

.

5 เห็นคุณค่าของแผ่นดิน และประเทศชาติ

.

แผ่นดินเป็นที่ให้เราได้อยู่อาศัย เราทุกคนล้วนได้กอบโกยสินทรัพย์จากแผ่นดินไปมากมาย และการที่เราอยู่สุขสบายในทุกวันนี้ได้ ในอดีตล้วนผ่านมาด้วยเลือดและหยดน้ำตาจากบรรพบุรุษผู้สร้างชาติสร้างแผ่นดิน ที่เสียสละให้เรา จนเรามีวันนี้ได้เพราะ”การเสียสละจนเป็นชาติ” ฉะนั้นเกิดมาอย่าให้เสียชาติเกิด ควรตระหนักรักชาติ กตัญญูด้วยหัวใจ อย่าทำร้ายเหยียบย่ำแผ่นดินเกิดของตัวเอง

.

สรุปทฤษฏีพอเพียง ต้องรู้คุณค่าสูงสุดของทุกสิ่งทุกอย่าง และพัฒนาส่วนที่ขาดให้เติมเต็ม จน”พอเพียง”ให้ได้

.

เมื่อคุณเข้าใจในแนวทางเดียวกันแล้ว ต่อไป

สิ่งที่ผมจะยกมาในบทความนี้คือการสร้างชีวิตให้พอเพียง

.

“ความพอเพียงในการสร้างชีวิตที่สมบูรณ์ ต้องมีจิตที่แน่วแน่ต่อเป้าหมายชีวิต ต้องเกิดจากความอดทน เพียรพยายาม ใช้สติปัญญาคิดวิเคราะห์จนสุดความสามารถ และศึกษาหาความรู้แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์ขั้นสูงสุดได้”

.

พอพูดถึงความรู้ บางคนคิด ฉันจบแค่ประถม ความรู้น้อยจะไปทำอะไรได้

.

ประเด็นคือ ต่อให้ คุณจะจบป.4 หรือ ป.โท ไม่ได้เป็นมาตรฐานชี้วัดว่าป.โท ต้องสำเร็จกว่าป.4เสมอไป เพราะความรู้ไม่มีคำว่าสายเกินไป ความรู้ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่ความรู้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ อยากรู้เรื่องไหนแค่คุณเข้าร้านหนังสือ หรือค้นหาทางอินเตอร์เนต ถ้ามีความใฝ่เรียนรู้เป็นที่ตั้ง คุณก็จะได้เรียนรู้ตลอดชีวิต แบบไม่มีที่สิ้นสุด

.

ถ้าคนจบ ป.4 มีความแน่วแน่ต่อเป้าหมาย เพียรพยายามศึกษาหาลู่ทางความสำเร็จ พยายามเรียนอย่างมีเป้าหมายเพื่อให้รู้วิธีการ และใช้สติและปัญญานำมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ คุณก็จะมีความสำเร็จเหนือกว่าคนที่จบสูงที่ไร้ซึ่งความเพียรและปัญญา เรียกว่ามีความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด ถึงจบสูงแต่หากขาดปัญญาในการนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ ความรู้ก็จะเป็นเพียงแค่ใบกระดาษ

.

การเรียนรู้ไม่มีข้อจำกัดของอายุ อาชีพ และฐานะทางสังคม สามารถ Reskill, Upskill , Multiskill หรือ Recycle skill ได้ไม่จำกัด ขอให้คุณยึดสิ่งนี้ไว้ ศักยภาพมนุษย์ในการเรียนรู้ มีอยู่ในตัวของทุกคน หากคุณอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ก็แค่ศึกษาเรียนรู้เรื่องนั้นอย่างจริงจัง ความรู้ไม่มีคำว่าพรสรรค์ แต่มันเป็นทักษะ ทักษะที่หมายถึงว่าฝึกได้ หากอยากเป็นเรื่องไหน ก็ฝึกเรื่องนั้นจนกว่าจะเป็น

.

แต่สำคัญ การเรียนรู้ในยุค4.0 ต้องประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งสิ่งนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระราชา มานานแสนนาน นั่นคือ การเรียนรู้ต้องรู้แจ้ง รู้จริง และสามารถนำไปใช้ได้จริง ด้วยการนำสติและปัญญามาพิจารณาในความรู้จนแตกฉาน

.

และนี่คือ ยุคแห่งการเรียนรู้ทั้ง4

.

ยุค1.0 เรียนรู้จากอาจารย์ในห้องเรียน

ยุค2.0 สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง

ยุค3.0 สามารถสร้างองค์ความรู้ได้

ยุค4.0 สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้จริง ในแบบฉบับของตนเอง(หรือการนำความรู้มาสร้างนวัตกรรมและต้องก่อเกิดผลได้จริง)

.

ซึ่งการที่จะให้คุณคิดแบบ4.0ได้ ต้องเริ่มจากสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การสร้างแรงจูงใจให้ลงมือทำ

.

จุดเริ่มไปสู่ทุกสิ่งจะต้องตั้งต้นมาจากมโนกรรม(Mindset)ก่อนเสมอ

.

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จิตฺเตน นียติ โลโก จิตฺเตน ปริกสฺสต โลกหมุนไปเพราะความคิดและจิต

.

โลกที่ว่านี้หมายถึงตัวคุณ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว จะหมุนไปข้างดีหรือข้างชั่ว สูงหรือต่ำ นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณคิด(Mindset)

.

เพราะฉะนั้น หากอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ให้เปลี่ยนแปลงความคิดเสียก่อน

.

หาก”วิธีคิด”เปลี่ยน ชีวิตก็เปลี่ยน เพราะสิ่งที่ลิขิตชีวิตคุณไม่ใช่พระเจ้าหรือเวรกรรม แต่มันคือความคิดของคุณเองว่าจะลิขิตให้ตัวเองเดินไปทางไหน

.

จุดเริ่มจึงต้องสร้างความคิดเพื่อนำทางไปสู่จุดสำเร็จ

.

มโนกรรม (การกระทำทางใจหรือหลักคิด)

วจีกรรม (การกระทำทางคำพูด)

กายกรรม (การกระทำทางกายหรือการลงมือทำ)

.

มโนกรรมจะก่อให้เกิด วจีกรรมและ กายกรรม หากไม่มีมโนกรรมที่ชี้นำ ก็จะไม่ก่อให้เกิดกายกรรมขึ้นมา ฉะนั้นหากจุดเริ่มไม่คิดที่จะขวนขวายสร้างความสำเร็จให้ชีวิต ความคิดก็จะส่งผลที่ทำให้ไม่เกิดการกระทำใดๆที่จะไปสู่ความสำเร็จได้เลย

.

แต่ถึงแม้หากมีมโนกรรม(คิด)จะสำเร็จอยู่ทุกวัน แต่ถ้าขาดกายกรรม(การลงมือทำ) คุณก็จะเป็นเพียงพวกมโน พวกเพ้อพกหาความสำเร็จ

.

เพราะฉะนั้นความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจาก ความคิดคือมโนกรรม(Mindset) เป็นจุดตั้งต้นเสมอ แต่มโนกรรมต้องชัดเจนและมากพอ จึงจะส่งผลไปสู่กายกรรม หรือการลงมือทำ(Action) และต้องลงมือทำแแล้วเท่านั้นความสำเร็จจึงจะเกิดได้

.

ซึ่งการทำให้มโนกรรม(Mindset) ก่อเกิดเป็นกายกรรม(Action)ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนด้วยพละทั้ง5

.

.

พละ (power) ทั้ง5 ที่ใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตได้แก่

.

1. ศรัทธาพละ (confidence power)

.

พลังแห่งศรัทธา ต้องมีเป้าหมาย และความเชื่อที่ชัดเจน แต่ต้องเชื่อด้วยเหตุและผลประกอบว่าเป้าหมายต้องเกิดได้จริง ไม่ใช่เชื่อแบบเพ้อเจ้อ

.

2. วิริยะพละ (energy power)

.

พลังแห่งความเพียร ที่พร้อมลุยกับทุกอุปสรรคของชีวิต ไม่หวั่นกับขวากหนาม เชื่ออย่างสุดใจว่าความพยายามจะชนะทุกอย่าง

.

3. สติพละ (mindfulness power)

.

พลังแห่งการมีสติ คือการใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท สติที่จะช่วยป้องกันความผิดพลาด ทั้งทางกาย วาจา และใจ

.

4. สมาธิพละ (concentration)

.

พลังแห่งความแน่วแน่ คือการโฟกัสไปที่เป้าหมาย แน่วแน่ทุกๆการดำเนินชีวิตไม่ว่อกแว่กกับอุปสรรคและสิ่งเร้า และลงมือทำอย่างมีวินัย

.

5. ปัญญาพละ (wisdom power)

.

พลังแห่งปัญญา ทุกๆความรู้ต้องมีความรู้แจ้ง ความรู้จริง ความรู้ในหลักของที่มาที่ไป และหลักของเหตุและผลประกอบเสมอ

.

.

ซึ่งสิ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่จะขาดไปไม่ได้ เพราะ

.

หากไร้ซึ่งเป้าหมาย ก็เหมือนเรือที่ลอยในทะเล แล้วแต่แรงลมพัดพาไป สุดท้ายก็ติดอยู่ในวังวนที่ไม่มีวันก้าวหน้าไปไหน

.

หากไร้ซึ่งศรัทธา ก็จะไม่กล้าลงมือทำในสิ่งที่นอกเหนือจากความเชื่อที่มี ในเมื่อไม่กล้าลงมือทำ แล้วเป้าหมายจะสำเร็จได้อย่างไร

.

หากขาดความแน่วแน่และวินัย สิ่งเร้าต่างๆจะขัดขวางไม่ให้ไปถึงเป้าหมาย

.

หากมีแค่ความเพียรอย่างเดียว ก็เหมือนคนขยันผิดที่ผิดเวลา เพียรกับสิ่งที่ไม่ส่งผลกับชีวิต

.

หากมีแค่ความเชื่อ แต่ขาดความเพียร ก็จะล้มเลิกได้ง่ายๆ จึงเป็นได้เพียงพวกเพ้อเจ้อหาความสำเร็จ

.

หากมีความเชื่อ ความเพียร และวินัย แต่ขาดปัญญา เมื่อปัญหาเกิด จะไม่สามารถเอาตัวรอดได้ เพราะไม่ได้เข้าใจในกระบวนการที่แท้จริงของปัญหานั้น

.

หากมีความเชื่อ ความเพียร วินัยและปัญญา แต่ขาดสติ ชีวิตก็จะเกินตัว และประมาท ทำอะไรแบบไม่ยั้งคิดจนผิดพลาดได้ง่าย

.

.

จะเห็นว่าองค์ประกอบเหล่านี้ทุกตัวจึงสำคัญทั้งหมด

.

ซึ่งหากคุณมีพละทั้ง5 และความรู้ เป็นเชื้อเพลิง ชีวิตนี้จะไม่มีวันอับจนหนทางอย่างแน่นอน

.

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เมื่อ2500กว่าปีก่อน และพระราชาของเราพระองค์ทรงนำมาใช้สอนผู้คนในยุคปัจจุบัน

.

และนี่ละคือส่วนสำคัญของศาสตร์พระราชา สอนให้รู้จักคุณค่าชีวิต ต้องแน่วแน่ต่อเป้าหมาย มีความรู้ ความเพียร มีสติ และปัญญาเป็นที่ตั้งเสมอ

.

การใช้พละทั้ง5 ในการดำเนินชีวิต

พระองค์ได้สอนพวกเรามาโดยตลอดดังนี้

.

พระบรมราโชวาทเรื่องพลังแห่งความเพียร

.

”…การทำงานใด ๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก

ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว

ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้

และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้ เกิดขึ้น

เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดย

ง่ายดายและรวดเร็ว…’

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่27 มีนาคม 2523

.

.

พระบรมราโชวาทเรื่องพลังแห่งสติปัญญา

.

“…ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก

การขบคิดวินิจฉัยปัญหา ต้องใช้สติปัญญา

คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ

เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด

และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น

ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ

เป็นไปอย่างเที่ยงตรง

ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็น

กระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน…..”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่1 สิงหาคม 2539

.

.

พระบรมราโชวาทเรื่องพลังแห่งสมาธิ

.

”…เมื่อจะเริ่มงานสิ่งใด ให้พยายามคิด

พิจารณาให้เห็นจุดหมายเห็นสาระและประโยชน์

ที่แท้จริงของงานนั้นอย่างแจ่มแจ้ง

แล้วจึง ลงมือทำด้วยความตั้งใจ มั่นใจ

ด้วยความ รับผิดชอบอย่างสูง

ให้ดำเนินลุล่วงตลอดไปอย่าง ต่อเนื่อง

โดยมิให้บกพร่องเสียหาย…”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่5 กรกฏาคม 2533

.

.

พระบรมราโชวาทเรื่องพลังแห่งความรู้

.

“…คนเราเมื่อมีความรู้เป็นทุนรอนจะไม่มีวันอับจน

ย่อมหาทางสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอ

ข้อสำคัญในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้น

จะต้องถือหลักด้วยความรอบคอบ

ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ

เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว

จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้า

ในระดับที่สูงขึ้น ตามต่อไปเป็นลำดับ

ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน

มีหลักเกณฑ์เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน…..”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่18 ธันวาคม 2540

.

.

พระบรมราโชวาทเรื่องพลังแห่งเป้าหมาย

.

”…การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก

ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย

ขอบเขตและ หลักการไว้ให้แน่นอน

เพราะจะช่วยให้สามารถ

ปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง

และ ถูกต้องพอเหมาะพอดี

เป็นการป้องกันและ ขจัดความล่าช้า

ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า

ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง…”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่17 กรกฎาคม 2530

.

.

ซึ่งเรื่องความแน่วแน่ต่อเป้าหมาย

พระองค์ได้ทรงปฏิบัติให้เราเห็นมาตลอดกว่า70ปี

.

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม

เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

.

พระปฐมบรมราชโองการในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่ 5 พฤษภาคม 2493

.

นี่คือเป้าหมายของพระองค์ ที่เราชาวไทยได้เห็นและประจักษ์มาแล้ว ว่าตลอด70ปี พระองค์ไม่เคยทิ้งเป้าหมายเลยสักวันเดียว

.

.

สิ่งที่พระองค์ทรงสอนและเป็นแบบอย่างเหล่านี้ นี่คือพื้นฐานของชีวิตเปรียบคือเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนให้ชีวิตก้าวสู่จุดสำเร็จ

.

และเมื่อมีพื้นฐานแน่นแล้ว ต่อมาดูกระบวนการของพอเพียงกันต่อ

.

กระบวนการ(Process) ของ”พอเพียง”

.

“เมื่อไม่พอ >>

ต้องพยายามเติมให้จนเพียงพอ >>

เมื่อพอแล้ว ต้องไม่เกินตัวจนเดือดร้อน >>

ขจัดความเกินตัวด้วยการเรียนรู้พัฒนา>>

เมื่อเรียนรู้จนเติมเต็ม >>

ก็ลงมือทำให้มากจนกว่าจะพอเพียง”

.

จะเห็นว่านี่คือวัฏจักรหลักการพัฒนาชีวิตแบบไม่มีที่สิ้นสุด

โดยมีกรอบความรอบรู้ รอบคอบ เป็นตัวควบคุม

.

“พอเพียง” ต้องอัพเกรดตัวเองทำให้คู่ควร กับเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

.

“ถ้าขาดต้องเติม ถ้าเกินต้องหยุด ถ้าหยุดต้องพัฒนา

ถ้าพัฒนาแล้ว ก็ลุยต่อจนกว่าจะพอเพียง”

.

จะเห็นว่าหลักของพอเพียงคือพัฒนาตัวเองให้เติบโตและเมื่อเติบโตเป้าหมายก็จะขยับเอง ทำไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ พัฒนาไปจนกว่าจะรู้สึกว่าพอ

.

หลักทฤษฎีพอเพียง เปรียบเหมือนหลัก PDCA (วงจรคุณภาพ) ซึ่งทฤษฎี

นี้คือการปรับปรุงพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

.

1) P= Plan คือ การวางแผน หมายถึงการใช้ชีวิตตามแบบแผนและมีเป้าหมายที่ชัดเจน

.

2) D= DO คือ การปฏิบัติตามแผน เพื่อให้ชีวิตไปถึงเป้าหมาย

.

3) C= Check คือ การตรวจสอบว่าการปฏิบัติเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และต้องพัฒนาเรื่องอะไร และมีอะไรให้ต้องแก้ไข

.

4) A= Act คือ การพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขเพื่อ ยกระดับให้สูงยิ่งๆขึ้นไป

.

และ จาก Act ก็วนไปใหม่ที่ Plan ทำเป็น วัฏจักรแบบนี้เรื่อยๆชีวิตคุณก็จะก้าวหน้าแบบไม่มีที่สิ้นสุดอย่างยั่งยืน

.

.

หากคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยึด “พอเพียง” ในการดำเนินชีวิต ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยประชากรคุณภาพ สามารถอุ้มชูตัวเองได้ และการที่ประชากรอยู่ดีกินดี มีคุณธรรม จะส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศพัฒนา หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางซึ่งคล้องกับนโยบายไทยแลนด์4.0 นอกจากนั้นยังช่วยลดปัญหาสังคม ปัญหาอาชญกรรม และเต็มไปด้วยสังคมแห่งน้ำใจและการแบ่งปัน ช่วยลดช่องว่างของรายได้

.

พระองค์ทรงคิดพัฒนาจากฐานราก เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ให้ความรู้และปัญญากับประชาชนเป็นหลัก

.

เพราะความรู้และปัญญาคือทรัพย์ที่จะยังคงอยู่ติดตัวเสมอ เพราะต่อให้เจอพิษเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง หากมีปัญญาเป็นที่ตั้ง ต่อให้ล้มสักกี่ครั้งก็จะลุกขึ้นมายืนอีกครั้งได้เสมอ สิ่งนี้จึงเป็นการสร้างชีวิตได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

.

นี่จึงเป็นที่มาของประโยคที่เราอาจเคยได้ยินกันว่า “นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด” หากได้ปลาจะกินอิ่มแค่มื้อเดียว แต่หากได้เบ็ดจะหากินได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

.

และเมื่อประชาชนมีอยู่มีกินแล้ว จึงค่อยมาพัฒนาความเจริญด้านอื่นต่อไป เพราะประชาชนคือเสาเข็มคือรากของแผ่นดินอย่างแท้จริง ถ้ารากแข็งแรงความมั่นคงอื่นๆก็จะตามมาได้เอง

.

.

ดั่งพระบรมราโชวาท ที่พระองค์ได้กล่าวไว้ว่า

.

“…เศรษฐกิจพอเพียง

เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต

รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน

เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอก

รองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง

สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม

แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม

และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

ณวันที่18 ธันวาคม 2540

.

.

และนี่คือภาพรวมของหลักพอเพียง คราวนี้มาเรียนรู้เชิงทฤษฎีกัน

.

ซึ่งแน่นอนจุดเริ่มที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องมีเป้าหมายแห่งชีวิต เพราะหากไม่มีเป้าหมาย ชีวิตก็จะไม่มีแรงจูงใจในขับเคลื่อนไปได้เลย คุณจะใช้ชีวิตไปแบบวันชนวันเดือนชนเดือนไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดอายุขัย แต่หากคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ชีวิตนี้ของคุณจะต้องหลุดพ้นจากความลำบาก ชีวิตนี้จะต้องพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยการสร้างเป้าหมายขึ้นมา คุณจะมีแรงใจและพลังในการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติทันที

.

ฉะนั้นการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายจึงสำคัญมาก แต่เป้าหมายต้องอยู่ภายใต้ SMART Goal นั่นคือ

.

S = Specific (ชัดเจน)

.

เป้าหมายต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเคลือและไม่ซับซ้อน เช่น “ฉันจะต้องมีธุรกิจตัวเองที่สำเร็จ”แบบนี้ไม่ชัด ซึ่งที่ชัดคือ “ฉันจะต้องมีธุรกิจที่มีรายได้1แสนต่อเดือน” อันนี้ชัดเจน คือต้องกำหนดเป็นรูปธรรมให้ได้ไม่ใช่นามธรรม

.

M = Measurable (วัดผลได้)

.

เป้าหมายต้องวัดผลได้ เป้าที่วัดไม่ได้เช่น ฉันจะต้องมีความสุข ความสุขไม่สามารถวัดได้ว่าระดับไหนจึงเรียกว่าสุข ฉะนั้นเป้าหมายที่วัดได้ เช่น คุณตั้งเป้ามาแล้วว่าจะมีรายได้ 1แสนต่อเดือน อันนี้วัดได้ในทุกๆสิ้นเดือนว่าคุณจะสำเร็จตามเป้าได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถทำรายได้1แสนต่อเดือนได้นั่นคือคุณทำตามเป้าได้แล้ว

.

A = Attainable (บรรลุผลได้)

.

เป้าหมายที่ดีต้องไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป หากใหญ่เกินไปจนไม่สามารถทำบรรลุผลได้คุณก็จะท้อและสุดท้ายจะล้มเลิก แต่หากเล็กเกินไปนั่นหมายถึงความไม่ท้าทาย ไม่ได้ดึงศักยภาพทั้งหมดของคุณออกมาและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างแท้จริง ฉะนั้นเป้าหมายต้องอยู่ทางสายกลางคือต้องมีโอกาสที่บรรลุผลได้ ซึ่งคุณต้องเชื่อว่า หากคุณได้ใช้ศักยภาพของคุณจนสุดความสามารถจนถึงขีดสุด ต้องทำมันให้สำเร็จได้

.

R = Realistic (ไม่เกินจริง)

.

คุณต้องมีหลักฐานของคนที่เคยทำสำเร็จมาอ้างอิงกับเป้าหมายของคุณ ว่ามีคนเคยทำสำเร็จมาแล้ว มาเป็นแรงบันดาลใจให้เห็นว่าไม่ได้ยากเกินไป หรืออาจจะใช้การอ้างอิง หลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มว่าเป็นจริงได้ อย่าตั้งเป้าในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นคุณจะมีรายได้1ล้านต่อเดือน ทั้งที่ความเป็นจริงปัจจุบันคุณมีเพียงแค่ 5หมื่นต่อเดือน ถ้ามีลู่ทางใช้วิธีการใหม่ๆที่มีโอกาสจริงไม่มีปัญหา แต่หากคุณใช้วิธีการแบบเดิมๆ แล้วมาคาดหวังผลลัพธ์ใหม่อันนี้เรียกว่าคุณกำลังเพ้อเจ้อ

.

T = Time Frame (มีกรอบเวลา)

.

การกำหนดกรอบจะช่วยให้คุณไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง คุณต้องมีAction Plan ชัดเจนว่าระยะวางแผนจะเริ่มเมื่อไหร่ สิ้นสุดเมื่อไหร่ ระยะลงมือและระยะวัดผลเริ่มเมื่อไหร่ และจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ การกำหนดเวลาเป็นเงื่อนไขในการบีบให้คุณลงมือทำอย่างจริงจัง

.

และนี่คือการตั้งเป้าแบบ SMART Goal ึงคุณยึดตามหลักการนี้จะทำให้เป้าหมายของคุณชัดเจนขึ้น

.

และเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็เข้าสู่หลักของทฤษฏีได้เลย

.

ทฤษฎีพอเพียง ประกอบด้วย 3ห่วง2เงื่อนไข

.

ห่วงแรก คือ ประมาณตน

ห่วงที่สอง คือ มีเหตุมีผล

และห่วงที่สามคือ สร้างภูมิคุ้มกัน

.

3ห่วงนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด

.

และทั้งหมดนี้จะต้องมี 2เงื่อนไขมาควบคุม

ได้แก่ ความรู้ และ คุณธรรม

.

ผมจะอธิบายให้คุณเข้าใจความหมายทั้งหมดดังนี้

.

มาเริ่มที่ห่วงแรก”พอประมาณ” หรือ ประมาณตน

.

การที่คุณจะพอประมาณได้ เริ่มต้นคุณต้องมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนว่าอยากมีชีวิตแบบไหนในอนาคต เพราะถ้ามีเป้าหมายคุณก็จะรู้ได้ว่าตัวคุณจะต้องทำอย่างไรให้พอประมาณ และเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดแล้ว

.

ก็มาสู่ขั้นตอน”รู้จักตน” คือคุณต้องประมาณตนว่าระดับศักยภาพของคุณมีแค่ไหน เพียงพอกับเป้าหมายหรือไม่ ต้องส่งเสริม และต้องพัฒนาด้านไหนบ้าง จึงจะทำให้เป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้สำเร็จได้

.

โดยพระองค์มีพระพระบรมราโชวาทเรื่องประมาณตนดังนี้

.

“การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

วันที่ 18 กรกฎาคม 2541

.

.

และนี่คือความหมายของพอประมาณ

.

ต่อมาเป็นห่วงที่2 “มีเหตุมีผล”

.

หมายถึง การคิดอย่างมีเหตุมีผลเสมอ นั้นคือ

“ผลจะเกิดขึ้นได้ต้องมีเหตุทำให้เกิดเสมอ”

.

ซึ่งห่วงทั้ง3 จะต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ฉะนั้นการมีเหตุมีผลเปรียบเหมือนเป็นกระบวนการที่จะทำให้เป้าหมายในห่วงแรกสำเร็จได้ด้วยเหตุและผลนั่นเอง

.

นั่นหมายถึงเป้าหมายคือผล ฉะนั้นการที่จะทำให้ผลสำเร็จได้คุณต้องสร้างเหตุขึ้นมา ซึ่งเหตุหมายถึงการค้นหากระบวนการ เพือส่งผลสู่ความสำเร็จให้ได้นั่นเอง

.

ซึ่งผมสรุปหลักการของเหตุและผลมาได้ตามนี้

.

การทำให้วิสัยทัศน์(Vision) >> ก่อเกิดเป็นพันธกิจ(Mission) >>และพันธกิจก่อเกิดเป็นการกระทำ(Action) >> ซึ่งการกระทำจะส่งผลไปสู่ผลลัพธ์(Result) >> และผลลัพธ์จะทำให้ก่อเกิดเป็นผล2ทาง ได้แก่ความสำเร็จ(Success)หรือความล้มเหลว(Fail)

.

ในหลวงรัชกาลที่9 พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า

“อนาคตสามารถทำนายได้ เพราะอนาคต ก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน”

.

นั่นหมายถึงถ้าวันนี้คุณงอมืองอเท้า แต่บ่นลำบาก บ่นอยากสบาย อนาคตก็ชัดเจนว่าคุณก็จะต้องลำบากไปตลอดชีวิต แต่ต่างกันหากวันนี้คุณขวนขวายพยายามไขว่ขว้าโอกาสและทำด้วยความมุ่งมั่นอดทนบนพื้นฐานของสติปัญญา อนาคตก็มีแต่เจริญรุ่งเรื่องอย่างแน่นอน

.

โดยพระองค์มีพระบรมราโชวาทเรื่องเหตุและผลดังนี้

.

“ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่าน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่า ให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคต ก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน”

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

วันที่ 8 กรกฎาคม 2519

.

.

และนี่คือความหมายของ”มีเหตุมีผล”

.

.

ต่อมา มาทำความเข้าใจในห่วงที่3″สร้างภูมิคุ้มกัน”

.

หมายถึง คุณต้องเตรียมพร้อมรับกับสิ่งไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ ต้องมีแบบแผนชีวิตที่ชัดเจน รู้จักคิดแผนสำรองเผื่อกรณีที่ล้มเหลว มีการใช้ชีวิตตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ประเมินตัวเองอยู่เสมอ คอยหมั่นดูว่าถ้าชีวิตขาดส่วนไหน ต้องหาหนทางรีบเติมให้พอเพียง เพื่อเป็นป้องกัน ด้วยการปิดช่องทางความล้มเหลวให้ได้มากที่สุด

.

โดยพระองค์มีพระบรมราโชวาทเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันดังนี้

.

วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัยมีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ทุกๆคนจะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อน(ทั้ง)นั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้

.

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่9

วันที่31 ธันวาคม 2527

.

.

และนี่คือหลักพื้นฐานเรื่องของสามห่วง ที่ผมอธิบายเป็นภาพกว้างๆ ซึ่งการเจาะลึกในการสร้างเป็นโมเดลชีวิตผมจะนำเสนอให้ทุกคนเรียนรู้ได้ในบทความต่อๆไป

.

คราวนี้ผมจะให้คุณมาเข้าใจความหมายของ 2 เงื่อนไขกันต่อ

.

2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม

.

1.เงื่อนไขความรู้

.

หมายถึง ความรอบรู้ เรียนรู้ ฝึกฝน มีความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้านอยู่เสมอ

.

ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากทำอะไรด้วยความที่ไม่รู้จริง นั้นหมายถึงการใช้ชีวิตด้วยความประมาท เพราะมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องอาศัยความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญ เช่น หากอยากขับรถเป็นคุณก็ต้องเรียนรู้การขับรถ หากคุณหิวอยากทำอะไรกิน คุณก็ต้องมีความรู้ด้านการทำอาหาร หากคุณอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด คุณก็ต้องศึกษาเรียนรู้เส้นทาง หากอยากทำธุรกิจคุณก็ต้องรู้ด้านธุรกิจ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรต้องอยู่บนพื้นฐานของความรอบรู้เสมอ ความรู้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินชีวิต

.

2.เงื่อนไขคุณธรรม

.

คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ ทั้ง5 ที่เรียกว่าพละ5 ประกอบไปด้วย มีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญา เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต และนอกจากนั้นต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวม และการแบ่งปัน ประกอบด้วยเสมอ

.

จะเห็นว่าหากขาดซึ่งคุณธรรม คุณก็จะไม่มีแรงใจ และความเพียรในการต่อสู้ได้เลย พร้อมจะล้มเลิกและล้มเหลวได้ตลอดเวลา เงื่อนไขคุณธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะทำให้ชีวิตขับเคลื่อนไปได้

.

.

และทั้งหมดนี้คือ 3ห่วง 2เงื่อนไข ในภาพรวมแบบกว้าง

.

ซึ่งในบทความต่อๆไปผมจะลงเจาะลึกเป็นโมเดล ที่ออกแบบมาเป็นไกด์ไลน์ชีวิตและธุรกิจให้คุณโดยเฉพาะ

.

.

ผมขอสรุป แผนที่ชีวิตตามหลักของศาสตร์พระราชาแบบย่อๆภาพใหญ่ๆอีกครั้งดังนี้

.

จุดเริ่ม(START) จะต้องเริ่มจาก การสร้างแนวความคิด คือการปรับจูน Mindset เพื่อให้พร้อมสู้ พร้อมก้าวหน้าก่อนเสมอ และเมื่อมีแนวคิดสู่ความสำเร็จแล้ว

.

จากนั้นให้สร้างเป้าหมายชีวิตขึ้นมาโดย เป้าหมายต้อง S.M.A.R.T นั่นคือ ต้องชัดเจน(S = Specific) ต้องวัดผลได้(M = Measurable) ต้องบรรลุผลได้(A = Attainable) ต้องไม่เกินจริง(R = Realistic) และ ต้องมีกรอบเวลาชัดเจน(T = Time Frame)

.

และเมื่อได้เป้าหมายแบบ S.M.A.R.T แล้ว ก็ให้นำเป้าหมายเข้าสู่หลักทฤษฎีพอเพียง เพื่อแปลงเป็นรูปธรรม

.

ซึ่งทฤษฎีพอเพียงจะประกอบไปด้วย 3ห่วง อันได้แก่

.

(1) ห่วงแรก “ประมาณตน” คือต้องประเมิน ศักยภาพของตน อย่างรู้คุณค่า และรู้ในการพัฒนาศักยภาพแห่งตน ว่าจะต้องพัฒนาเรื่องไหนอะไร อย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลักๆ มี4อย่างคือ

.

– ต้องรู้จักตนเอง

– ต้องรู้จักคุณค่าแห่งตน

– ต้องรู้ระดับความพอดีของตน

– ต้องรู้เป้าหมายชีวิตของตน

.

(2) ห่วงสอง “มีเหตุมีผล” คือการสร้างเป้าหมายให้ก่อเกิดเป็นความจริง ด้วยการเปลี่ยน Vision (วิสัยทัศน์) ให้เป็น Mission (พันธกิจที่ต้องทำ) ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าหลักความสมเหตสมผล เมื่อมีเป้าหมาย การที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ นั่นคือ ต้องสร้างกระบวนการแห่งความสำเร็จขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งกระบวนการสู่ความสำเร็จ มีด้วยกัน 4รูปแบบคือ

.

– วิเคราะห์หาเหตุผลที่จะไปสู่เป้าหมาย

– ใช้หลักอริยะสัจ4 มาทำให้เป้าหมายไปสู่ความจริง

– วิเคราะห์การไปสู่เป้าหมายอย่างสมเหตุสมผลด้วย 5W1H

– สร้างกระบวนการที่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน (Action Plan)

.

(3) ห่วงสาม “มีภูมิคุุ้มกัน” คือ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับความล้มเหลวไว้เสมอ ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมมีด้วยกัน4ข้อหลักคือ

.

– มีการเตรียมแผนสำรอง

– มีวิธีป้องกันความล้มเหลว

– ต้องรวบรวมสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุุงเสมอ

– ต้องพัฒนาปรับปรุงและเรียนรู้อยู่เสมอ

.

โดยทั้ง 3ห่วงนี้ จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้ต้องมี พละทั้ง5 มาเป็นแรงพลักดัน อันได้แก่

.

พลังแห่งศรัทธา พลังแห่งความเพียร พลังแห่งสติ พลังแห่งสมาธิ และพลังแห่งปัญญา

.

และจะต้องตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ของ 2เงื่อนไขเสมอ อันได้แก่

.

เงื่อนไขความรู้ ได้แก่ ความรอบรู้ ความรอบคอบ การระมัดระวัง

.

และเงื่อนไขคุณธรรม ได้แก่ การมีน้ำใจแบ่งปัน การมีวินัยอยู่ในกฏระเบียบของสังคม และต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ

.

ซึ่งไม่ว่าใครหากปฏิบัติการตามหลักของทฤษฎีพอเพียงตามนี้ได้แล้ว จะนำไปสู่ ความสำเร็จของชีวิต สามารถอุ้มชูตัวเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

.

และเมื่อตนยั่งยืนมีคุณภาพ ก็จะส่งผลไปสู่ประเทศชาติ ทำให้เศรษฐกิจประเทศเจริญเติบโต ประชาชนมีคุณภาพ ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ผู้คนมีน้ำใจรู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน

.

และนี่คือบทสรุปแบบย่อๆ ซึ่งรายละเอียดหลักๆผมจะลงให้ในบทความต่อๆไปอย่างละเอียด ติดตามได้ เร็วๆนี้

.

.

ซึ่งหลักทฤษฎีพอเพียง ผมได้แบ่งการประยุกต์ใช้ 2 รูปแบบคือ

.

1 ประยุกต์ใช้เป็นหลักทฤษฎีในการทำโมเดลชีวิต (Life Model)

.

ที่จะครอบคลุมทุกการดำเนินชีวิตสามารถนำโมเดลนี้ไปวางแผนชีวิตได้เลย

.

2 ประยุกต์ใช้เป็นหลักทฤษฎีในการทำโมเดลธุรกิจ (Business Model)

.

เป็นBusiness Model Plan แบบ All in 1 รวบรวม

Marketing Plan Operation Plan Financial Plan ไว้ในModel เพื่อเป็นการครอบคลุมหลักการบริหารธุรกิจทั้งหมดไว้ในโมเดล และกระตุ้นให้ลงมือทำอยางเป็นรูปแบบขั้นตอนและหลักการ

.

บทความนี้เป็นเพียงการเปิดตัวปฐมบทแห่ง”ศาสตร์พระราชา”เท่านั้น การเรียนรู้อย่างเจาะลึกอย่างแท้จริงรอติดตามได้ทางเพจนี้เพจเดียวเท่านั้น

.

.

คุณได้อะไรจากศาสตร์พระราชาในแบบฉบับของผมบ้าง ช่วยคอมเม้นท์กันหน่อย และช่วยแชร์ต่อเพื่อนๆ เพื่อผมจะได้มีกำลังใจสร้างสรรค์ผลงานที่ดีๆสู่สังคมต่อไปด้วยนะครับ

.

เพื่อไม่ให้พลาดตอนต่อๆไปของศาสตร์พระราชา

.

อย่าลืม!! กดติดตามและกดเห็นโพสต์ก่อน(See First) ไว้ด้วยนะครับ

.

แล้วอย่าลืมติดตามตอนต่อไปครับ

.

อนุญาติให้แชร์บทความนี้ได้เต็มที่ !!

แต่หากก็อปปี้ต้องขออนุญาติเท่านั้นครับ จะพิจารณาให้

.

.

.

เนื้อหาโดย AcTioN Bizbuddy

.