Blog

ทุกธุรกิจสำเร็จได้ด้วย”#ศาสตร์แห่งพระราชา” (ตอนที่2)

ทุกธุรกิจสำเร็จได้ด้วย”#ศาสตร์แห่งพระราชา” (ตอนที่2)

.

THE KING’S PHILOSOPHY (For Business Model Mix)

.

การที่ประเทศจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาจากรากฐานเสาเข็มของแผ่นดิน นั่นหมายถึง การพัฒนาที่ตัวประชากรให้มีคุณภาพ สิ่งนี้พระราชาองค์ภูมิพลของพวกเรา พระองค์ทรงพยายามวางรากฐานไว้มานานแสนนานนับ70ปี

.

ฉะนั้นการเดินตามรอยเท้าพ่อที่ดีที่สุด คือพวกเราต้องสร้างตนให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากประชากรในประเทศพร้อมใจกันสร้างตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะพัฒนาได้เองอย่างมั่นคงและยั่งยืน โมเดลนี้ ผมจึงทำขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อ เค้าจะได้วางรากฐานธุรกิจตนให้มั่นคง

.

จากที่ผมได้ศึกษาศาสตร์พระราชาอย่างถี่ถ้วนมานาน ทำให้ได้รู้ว่าหลักการของศาสตร์พระราชา แนวคิดทั้งหมดมาจากหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาทั้งสิ้น ผมจึงขออนุญาติผสมผสาน 3หลักทฤษฎีเข้าด้วยกัน คือทฤษฎีของพ่อ ทฤษฎีของพุทธศาสนา และทฤษฎีพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน

.

และเพื่อให้ก่อเกิดเป็นการประยุกต์ใช้ตามหลักคำสอนของพ่อ ที่สอนเรื่อง “อย่ายึดติดตำรา” หรือต้องคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับหลักสอนของพระพุทธเจ้า “อัตถปฏิสัมภิทา” หรือปัญญาแตกฉานในอรรถ คือให้หัดประยุกต์การนำเสนอเพื่อให้ทันยุค ทันสมัยนิยมอยู่เสมอ โมเดลธุรกิจนี้ผมจึงได้ทำให้มันก่อเกิดขึ้นมา

.

ซึ่งก่อนเริ่มการทำธุรกิจพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนไว้ว่า นักธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานอยู่ 3ประการ หรือเรียกว่า ทุติยปาปณิกสูตร อันได้แก่

.

๑) จักขุมา (Conceptual Skill) ต้องมีทักษะในการใช้ความคิด หมายถึง มีปัญญามองการณ์ไกล โดยการก่อเกิดจักขุมาได้ จะต้องมีปัญญามองไปที่เหตุแห่งความสำเร็จ 3ประการ อันได้แก่ ต้องรู้ตน ต้องรู้คน และต้องรู้งาน

.

นั่นหมายถึง ต้องรู้ว่าธุรกิจของตนมีจุดดีจุดเด่น จุดขายและจุดอ่อนอะไร นี่คือ (“รู้ตน”)

.

ต้องรู้เทรนด์ของตลาดว่าโอกาสสินค้าประเภทไหนที่คาดว่าจะเติบโตและแก้ปัญหาให้ผู้คนจำนวนมากได้ นี่คือ (“รู้คน”)

.

และต้องรู้ว่าบริหารวางแผนงานการนำเสนอแบบไหนที่ตรงใจผู้คนและเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ และนี่คือ (“รู้งาน”)

.

๒) วิธูโร (Technical Skill) ต้องมีทักษะด้านเทคนิคในการประกอบกิจการ หมายถึง นอกจากความรู้ในธุรกิจเฉพาะที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว สำคัญยังต้องสามารถรู้หลักบริหารจัดการที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ด้วย นั่นคือ ต้องมีความรู้หลักการตลาด รู้หลักของการสร้างแบรนด์ รู้หลักการขาย และต้องรู้หลักการบริหารจัดการธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่ต้องใช้ในการขับเคลื่อนแบรนด์ให้ไปสู่ความสำเร็จ ฉะนั้นหากไม่มีก็ต้องพัฒนาเรียนรู้เพื่อเติมเต็มอยู่เสมอ

.

๓) นิสสยสัมปันโน (Human Relation Skill) ต้องมีทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ คือการสร้างคอนเนคชั่นกับคู่ค้า คู่สัญญาหรือคู่ธุรกิจ หรือสามารถหาลู่ทางการต่อยอดธุรกิจด้วยการสานสัมพันธ์เพื่อช่วยกันผลักดันซึ่งกันและกัน ซึ่งหากส่วนไหนไม่ถนัดควรมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญเอเจนซี่ หรือที่ปรึกษาทางธุรกิจเฉพาะด้าน มาช่วยประคองเพื่อให้ธุรกิจสามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คุณไม่สามารถสำเร็จขั้นสูงสุดได้หากสู้ด้วยตัวคนเดียว คอนเนคชั่นจึงจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ

.

และนี่คือคุณลักษณะพื้นฐานทั้งสามประการที่นักธุรกิจต้องพึงมีทุกคน

.

ต่อไป คุณรู้กฏข้อนี้ดีว่า “การลงทุนทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง” อันนี้คือจริงแท้แน่นอน แต่คุณจะมีโอกาสเสี่ยงน้อยลงมาก หากคุณทำธุรกิจโดยยึดหลักของ3ร. อันได้แก่ “รอบรู้ รอบคอบ และระวัง” ด้วยหลักการนี้จึงได้ก่อเกิดเป็น ศาสตร์พระราชาโมเดล ซึ่งเปรียบเป็นแผนที่ในการวางแผนธุรกิจให้กับคุณ

.

ซึ่งในการดำเนินธุรกิจ คุณจะต้องคำนึงถึง3กรอบ(3ห่วง)หลักไว้เสมอ ซึ่งทั้ง3กรอบนี้ถูกคิดค้นโดยพระราชาพระนามว่า”องค์ภูมิพล” ที่ทรงแตกฉานเป็นอย่างดีว่าหากมีทั้ง3สิ่งนี้เข้าควบคุม โอกาสที่ชีวิตกิจการหรือธุรกิจจะล้มเหลวก็ย่อมน้อยลงเป็นทวีคูณ ซึ่งบทความตอนที่2นี้ ผมจะทำให้คุณเข้าใจภาพรวมใหญ่ใน3กรอบก่อนแล้วค่อยมาเจาะลึกรายละเอียดโมเดลธุรกิจในภายหลังในตอนต่อๆไป

.

หลักการของทฤษฎี ทั้ง3กรอบจะต้องเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน กรอบแรกได้แก่กรอบประมาณตน (Research) คือการวิเคราะห์วิจัยจนมั่นใจว่าจะต้องเกิดเป็นผลขึ้นมาได้แน่นอน ซึ่งผลที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเรียกว่า “Vision”

และการที่จะทำให้ผลหรือ สิ่งที่คาดหวังที่เรียกว่าVisionสำเร็จได้นั้น คุณต้องหาเหตุที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวังนั้นขึ้นมา และเหตุที่จะทำให้ก่อเกิดผลขึ้นมาได้ นั่นคือต้องมี “Mission” หรือพันธกิจที่ต้องทำ ซึ่งอยู่ในกรอบที่2 ที่เรียกว่ากรอบของเหตุและผล (Process)

และเพื่อให้ Vision & Mission สำเร็จได้ตามเป้า จะต้องอาศัยกรอบที่3เข้าควบคุมซึ่งได้แก่ กรอบการสร้างภูมิคุ้มกัน (Risk Management) เครื่องมือบริหารความเสี่ยง อันได้แก่การเตรียมแผนสำรอง แผนฉุกเฉิน ไว้พร้อมรับมือในอนาคต เพื่อคอยประคองให้ธุรกิจสามารถสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

และนี่ละคือศาสตร์แห่งพระราชา ที่ไม่ว่าธุรกิจไหนนำไปใช้เป็น “Business Model” จะต้องสำเร็จได้อย่างแน่นอน

Start>>Research>>Vision>>Mission>>Action>>Risk Management>>Success

.

คราวนี้ผมจะให้คุณทำความรู้จักกับกรอบแรกกันว่า กรอบนี้มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง

.

๑. กรอบการประมาณตน (Research)

.

สิ่งนี้เปรียบเหมือนการหาเมล็ดพันธ์แห่งธุรกิจ หากเลือกเมล็ดพันธ์ที่ไม่ดี ก็เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกผิด ซึ่งแน่นอนว่าเม็ดต่อๆไปก็จะติดผิดตามๆกันไปทั้งหมด

.

ถ้าตอนนี้คุณคิดอยากจะหาสินค้าที่คุณอยากขาย แต่ไม่ได้มองถึงความต้องการที่แท้จริงว่าผลิตออกมาแล้วจะมีผู้ต้องการหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าต่อให้คุณมีเทคนิคกลยุทธ์การตลาดขั้นเทพแค่ไหน แต่หากตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้ก็เตรียมรับความล้มเหลวได้เลย

.

การประมาณตนจึงไม่ใช่มองแค่ตน แต่ให้มองถึงผู้ที่มองมายังตนด้วยเสมอ ฉะนั้นคุณต้องใช้กลยุทธ์3รู้ ที่อยู่ใน”จักขุมา” คือการมองด้วยปัญญาไปที่เหตุแห่งความสำเร็จ 3ประการ นั่นคือ

.

“มองมายังตน มองมายังคน และมองมายังงาน”

.

หรือที่เรียกว่า รู้ตน รู้คน และรู้งาน นั่นเอง ซึ่งหากคุณมีสินค้าอยู่แล้ว จุดเริ่มคุณต้อง”รู้จักตน” ต้องประมาณตนให้ได้ว่าสินค้าและบริการของคุณมีข้อดี ข้อเด่น ข้อแตกต่างอะไร

.

จากนั้นจึงค่อยไป”รู้คน” นั้นคือข้อดีข้อเด่นที่มี สามารถค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เค้าต้องการได้หรือไม่ ถ้าไม่มีหรือมีไม่มากพอต้องค้นหา และต้องปรับปรุงพัฒนาสินค้า จนกว่ามันจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคก่อเกิดความอยากได้อยากมีในตัวสินค้าของคุณขึ้นมาให้ได้

.

และเมื่อสามารถพัฒนาสินค้าและค้นเจอกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว จึงค่อยมา”รู้งาน” นั่นคือการสร้างกระบวนการเพื่อให้บรรลุผล ซึ่งอยู่ในกรอบของเหตุและผล คือต้องรู้ว่าต้องใช้วิธีการอะไรบ้างที่จะส่งผลไปสู่ความสำเร็จ เช่นต้องใช้แพลทฟอร์มไหนที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ต้องใช้สกิลการตลาดอะไรเพิ่ม และต้องมีทักษะด้านใดบ้าง จึงจะสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวัง สิ่งนี้ละเรียกว่า “รู้งาน”

.

ซึ่งโมเดล3รู้นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนหลักการนี้ไว้เมื่อ2500กว่าปีมาแล้ว

.

แต่หากคุณเป็นมือใหม่ที่พึ่งคิดจะทำธุรกิจ คุณต้อง

.

” รู้คน รู้ตน และรู้งาน “

.

ผมเรียงไม่ผิด เพราะผมให้คะแนนความสำคัญสุดคือการ “รู้คน” เพราะแบรนด์หรือนักธุรกิจที่สำเร็จระดับโลก ต้องเริ่มมาจาก “รู้คน” ก่อนเสมอ…เพราะ!!

.

“ธุรกิจเป็นเรื่องของ>>คนกับคน<<

ฉะนั้นหากคุณครองใจ>>คน<<ได้

ธุรกิจคุณก็จะสำเร็จ”

.

นี่คือสมการความสำเร็จของธุรกิจ คือต้องรู้ความต้องการของ”คน”ให้ได้ว่าเค้ามีปัญหาหรือความต้องการอะไร แล้วจึงค่อย มา”รู้ตน” ด้วยการออกแบบตน(แบรนด์)ให้เหมาะกับคน(กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) เพื่อครองใจคนให้ได้ และเมื่อครองใจคนได้เมื่อไหร่ นั่นละคือจุดสำเร็จของธุรกิจ

.

ผมรู้หลายคนอาจคิดค้านว่าต้องรู้ตนก่อนสิ ต้องรู้ว่าตนถนัดอะไรชอบอะไรก่อนต่างหาก เพราะคนเราต้องทำงานกับสิ่งที่ตนรักและถนัดต้องมี Passion(ความรักในสิ่งที่ทำ)จึงจะมีโอกาสสำเร็จได้

.

ถ้าคุณคิดแบบนั้นก็ไม่ผิด!!

.

แต่!! ผมขอให้ไมด์เซ็ทชิ้นใหม่แก่คุณ โดยคุณไม่ต้องมาเชื่อสิ่งที่ผมบอก แต่จงพิจารณาวิเคราะห์ด้วยตนเองว่ามันจริงหรือไม่

.

นั่นคือ ก่อนอื่น คุณต้องพิจารณาก่อนเสมอว่าสิ่งที่คุณชอบสิ่งที่คุณถนัดหรือรัก มันมีคนต้องการหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่มากพอไหม การแข่งขันเป็นอย่างไร โอกาสเป็นอย่างไร ซึ่งหากพิจารณาแล้วไม่เห็นหนทางหรือริบหรี่ คุณจะทำสิ่งที่”รู้ตน”ไปเพื่ออะไร!!

.

ในเมื่อรู้อยู่แล้วดันทุรังไปก็ยากจะสำเร็จ ซึ่งแน่นอน การเพียรพยายามสู้นะดี แต่!! “ต้องถูกที่ และถูกเวลาเท่านั้น” จึงจะเรียกว่าเป็นคนมีสติและปัญญา

.

ฉะนั้น ขอให้จำไว้ว่า “การทำธุรกิจที่ชอบต้องตอบโจทย์ชีวิตที่ใช่!! ให้คุณได้เท่านั้น” จึงเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ลองคิดดูหากคุณทำธุรกิจที่ชอบแต่สุดท้ายมันไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตที่ใช่ให้คุณได้ มันจะยั่งยืนได้อย่างไร ในเมื่อเจ๊งแล้วเจ๊งอีก สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกในสักวันอย่างแน่นอน ฉะนั้น

.

“จงทำสิ่งที่ใช่ก่อนสิ่งที่ชอบเสมอ เพราะเมื่อสร้างชีวิตอยู่ในจุดที่ใช่ได้แล้ว เมื่อนั้น คุณจะสร้างสิ่งที่ชอบแค่ไหนก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา”

.

ซึ่งธุรกิจที่ใช่ ต้องเกิดจากการ”รู้คน” นั่นหมายถึง คุณต้องรู้ว่าคุณค่าสิ่งไหนที่คนต้องการ เมื่อรู้ก็ให้สร้างสิ่งนั้นให้แก่ผู้คน ซึ่งจุดสำเร็จที่สำคัญ คือธุรกิจคุณต้องมอบคุณค่าให้กับผู้คนจนมากพอ เพราะเมื่อมากพอ สุดท้ายผู้คนก็จะยอมแลกเปลี่ยนด้วยเงินคืนกลับมาเองโดยอัตโนมัติ และนี่ละคือกฏแห่งการตอบแทน ถ้าอีกฝ่ายได้รับคุณค่าจนมากพอเมื่อไหร่ เค้าก็พร้อมจะตอบแทนคุณเองเสมอโดยธรรมชาติ

.

ฉะนั้นไมด์เซ็ทที่ผมจะให้คุณคือ

.

“จงเป็นผู้ให้มากกว่ารับ แล้วจะได้รับมากกว่าให้”

.

ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า “สังคหวัตถุ 4”

.

สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจผู้อื่น เป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

.

1. ทาน คือ การให้ การแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว

.

นั่นคือ การสร้างธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ต้องนึกถึงคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจริงๆ โดยมองว่าจะช่วยทำให้ชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นได้อย่างไร และสินค้าจะมาช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ผู้บริโภคได้

.

2. ปิยวาจา คือ การพูดจาสื่อสารด้วยความจริงใจ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ

.

นั่นคือ การนำเสนอContent อย่างจริงใจ ไม่หมกเม็ด ไม่หลอกลวงให้หลงเชื่อ และต้องนำเสนอContent ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะขายเพียงอย่างเดียว

.

3. อัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ทั้งตนเอง และผู้อื่น รู้จักการเสียสละในการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

.

นั่นคือ การสร้างตนธุรกิจองค์กร ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ช่วยส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรม ส่งเสริมให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่ดี เป็นส่วนนึงในการเผยแพร่การคิดดี ทำดี แก่สังคม และประเทศชาติ อาจด้วยเป็นการจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคม หรือการนำเสนอContent ที่ช่วยส่งเสริมคุณงามความดี

.

4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย

.

ซึ่งคุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีอุดมการณ์อันแน่วแน่ มีความจริงใจมั่นคงในการเสียสละ ยึดมั่นในสิ่งดีงามที่มอบให้ผู้คนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

.

และนี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้เรารู้จัก “การให้มากกว่าการรับ” สอนให้เราได้รู้จัก “การเสียสละเพื่อผู้อื่น” และพ่อก็สอนคุณธรรมเหล่านี้ให้พวกเราเสมอมาเช่นกัน จะเห็นว่าคำสอนเหล่านี้ ทรงสอนให้ “มองคนมากกว่าตนเสมอ”

.

ฉะนั้น จงอย่ายึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องยึดถึงคุณค่าที่คุณจะส่งมอบให้โลกนี้ ว่าจะมอบอะไรให้โลกให้ประเทศให้สังคมและผู้คน เพื่อจะแก้ปัญหาให้เค้า เพื่อทำให้ชีวิตเค้าดีขึ้น และเมื่อค้นเจอ ก็จง “สร้างมันขึ้นมา”

.

ยกตัวอย่าง ผมไม่เคยสนใจตนเลยว่าผมจะถนัดอะไร ชอบอะไร อยากทำอะไร เพราะทุกๆการกระทำ ผมคิดมุ่งเป้าไปที่คนและประเทศก่อนตัวเองเสมอ แล้วจึงสร้างตนขึ้นมาให้เหมาะโดยวิเคราะห์ว่าทำแล้วคนจะได้ประโยชน์และคุณค่าอะไร ประเทศจะได้อะไร และสิ่งไหนที่จะช่วยคนได้ หรือสิ่งไหนที่คนต้องการ

.

ซึ่งหากรู้ว่าคนและสังคมต้องการอะไร “ก็ให้สร้างมันขึ้นมา”

.

ซึ่งแม้แต่ Passion(ความรักในสิ่งที่ทำ) คุณเองก็สามารถสร้างมันขึ้นมาได้เช่นกัน คุณอาจเคยได้ยินบ่อยๆจากกูรูทางด้านจิตวิทยาหรือ NLP ว่าให้ค้นหาPassionของตัวเองให้เจอ และทำตามPassion ชีวิตจะสำเร็จ ซึ่งใครเจอ Passion และได้ทำตามPassion ถือว่าโชคดี แต่สำหรับวิถีทางของผม จริงๆแล้วคุณไม่ต้องค้นหาตัวตนเลย แต่คุณแค่สร้างมันขึ้นมา โดยการสร้างVision เพื่อหาความต้องการของคน แล้วค่อยมาเปลี่ยนจากVision ให้เป็น Passion !!

.

เพราะถ้าวันนี้คุณยังยึดติดกับสิ่งที่มีในตัวตนมัวค้นหาแต่ตัวตน คุณก็จะไม่มีทางยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน อย่าลืม ว่าโลกใบนี้มันมีอะไรให้คุณค้นหาได้อีกมากมาย ฉะนั้นจงเปิดกะลาออกมาสู่โลกกว้าง “อย่าโฟกัสที่ตัวตน แต่ให้โฟกัสที่ตัวคน และสิ่งที่โลกต้องการ” เพราะในความเป็นจริง “โลกไม่มีวันปรับตัวเข้าหาคุณ แต่ต้องเป็นคุณที่ต้องปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในทุกๆวัน”

.

ฉะนั้นหากอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นคุณจะต้องผูกตัวเองไปกับสิ่งที่ต้องยกระดับชีวิตให้คุณได้เท่านั้น!! ขอให้คุณเชื่อว่าชีวิตคุณสามารถออกแบบและลิขิตได้เอง หากอยากให้เป็นแบบไหนก็แค่สร้างกระบวนการขึ้นมาจนกว่ามันจะเป็นในสิ่งที่ต้องการให้ได้

.

Passionไม่จำเป็นว่าต้องทำในสิ่งที่คุณชอบเสมอไป แต่ขอให้คุณเปลี่ยนสิ่งที่ชอบ ให้ไปเป็นความลุ่มหลงต่อเป้าหมายแทน และนี่ก็เรียกว่า Passion อีกวิถีหนึ่ง ที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยตัวคุณเอง

.

ซึ่งPassionหรือฉันทะ ต่อเป้าหมายจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย พลังแห่งศรัทธา และพลังแห่งสมาธิเป็นแรงขับเคลื่อน พลังแห่งศรัทธา คือ เชื่อว่าเป้าหมายมันต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน และต้องมีพลังสมาธิ คือมองเป้าหมายความสำเร็จเป็นที่ตั้งอย่างมีวินัย ไม่ลดละ ไม่ล้มเลิก มีโฟกัสกับเป้าหมายอย่างไม่ท้อถอย

.

ซึ่งหากคุณใช้2พลังนี้ผนวกเข้าไปในเป้าหมาย Passion ความลุ่มหลงในความปรารถนาอันแรงกล้ามันก็จะก่อเกิดขึ้นมาเอง สำคัญขอให้เป้าหมายชัดเจนมากๆเป็นพอ เพราะถ้าเป้าหมายชัด ต่อให้เหนื่อยต่อให้ลำบาก ต่อให้เบื่อ แต่เมื่อคุณได้คิดถึงเป้าหมายที่หวังไว้ว่าต้องสำเร็จให้ได้ และต้องสำเร็จได้อย่างแน่นอน คุณก็จะลืม ความเบื่อ ความลำบากไปได้ทั้งหมด และนี่ละคือวิธีการสร้าง Passion อีกรูปแบบ ตามสไตล์ของผม ซึ่งเป็นวิธีเชิงรุกเข้าใส่เป้าหมายแบบสุดกำลัง

.

แนวคิดแบบ “การเลือกสร้าง ในสิ่งที่โลกต้องการ” ไม่ใช่แค่ผม แต่พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก พระองค์ก็ทรงใช้แนวคิดแบบนี้เช่นกัน อันเห็นได้จากหลักการเลือกตรัสของพระองค์ที่ทรงสอนแก่เหล่าสาวก หลักการของพระองค์คือ

.

“คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ทรงตรัส”

.

นั่นหมายถึงพระองค์ ทรงเลือกนำเสนอ เฉพาะสิ่งที่มีคุณค่า ไม่หลอกลวง(มีคุณธรรม) เป็นประโยชน์(ช่วยเหลือผู้คนได้) และเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้คน(ผู้คนต้องการไม่ต่อต้าน) พระองค์จึงทรงตรัสในเรื่องนั้นๆ และนี่คือหลักการทำธุรกิจที่สำคัญมากๆที่พระองค์ได้ทรงสอนหลักการนี้ให้กับเหล่าบรรดาสาวก ก่อนส่งออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา นั่นคือ “ให้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่โลกต้องการ”

.

นอกจากนั้นนักธุรกิจและผู้สำเร็จมากมายก็ล้วนแต่ใช้หลักแนวคิดแบบนี้ทั้งสิ้น

.

เฮนรี่ฟอร์ด สอบถามผู้คนอยากได้พาหะนะแบบไหน คนมากมายต่างตอบอยากได้ม้าที่มีพลังและเร็วกว่าเดิม เฮนรี่ฟอร์ดจึงเห็นว่าแท้จริงแล้วผู้คนไม่ได้ต้องการม้า แต่ต้องการแค่ความรวดเร็วในการไปถึงเป้าหมาย รถยนต์จึงถือกำเนิดขึ้นมา

.

จ็อบส์ ทำสำรวจ พบว่าคนอยากได้มือถือเครื่องบางและสามารถมีลูกเล่นแบบครบวงจร เล่นเน็ตได้ แชทได้เหมือน Blackberry แต่อยากได้จอใหญ่ๆ และปุ่มกดง่ายขึ้น สามาร์ทโฟนที่ชื่อว่าไอโฟนจึงถือกำเนิดขึ้นมา

.

ซึ่งนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ล้วนใช้หลักการนี้ทั้งสิ้น สิ่งที่คนเหล่านี้สำเร็จได้ เป็นเพราะพวกเค้า”รู้ความต้องการของคน” แล้วมาออกแบบตนจนสามารถแก้ปัญหาให้ผู้คนได้ และปัจจัยของระดับความสำเร็จคือ หากสามารถช่วยหรือแก้ปัญหาให้ผู้คนได้มากเท่าไหร่ สิ่งนั้นคือความสำเร็จที่มากขึ้นเท่านั้น คนเหล่านี้แก้ปัญหาให้คนทั้งโลกได้ จึงไม่แปลกที่เค้าจึงกลายเป็นบุคคลระดับโลก และร่ำรวยมหาศาล เพราะฉะนั้นหากคุณอยากสำเร็จมากก็ต้องช่วยผู้คนให้ได้จำนวนมากๆแล้วความสำเร็จมันจะแปรผันตามเสมอ

.

ดั่งสมการแห่งผลตอบแทน M = P x V หรือ

Money(เงิน) = People(คน) x Value(คุณค่า)

.

นั่นคือ หากคุณอยากได้เงินเยอะๆ นั่นหมายถึงคุณต้องสร้างคุณค่าให้สินค้าให้สูงๆ หรือต้องแก้ปัญหาให้ผู้คนจำนวนให้มากที่สุด เพราะยิ่งแก้ปัญหาและสร้างคุณค่าให้ผู้คนได้เยอะมากเท่าไหร่ จำนวนเงินยิ่งทวีคูณ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีเป้าหมายรายได้ 1ล้านต่อเดือน

.

Value(คุณค่า) คือระดับคุณภาพของสินค้าของคุณ ซึ่งยิ่งมีคุณภาพสูง นั่นหมายถึงคุณค่าของสินค้าก็จะสูงตาม ซึ่งแน่นอนหากคุณค่ายิ่งมาก การตั้งราคาก็ยิ่งสูงแปรผันตามคุณค่าที่มากขึ้นนั่นเอง

.

สมมุติคุณค่าสินค้าของคุณตั้งราคาอยู่ที่ 1000 บาท และคุณมีเป้ารายได้ต่อเดือนคือ1ล้านบาท

.

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สามารถทำเงินล้านต่อเดือนให้เป็นจริงได้มี4วิธีการดังต่อไปนี้

.

(1) ทำให้เกิดคนซื้อให้ได้ 1พันคน

.

หากคุณอยากได้เป้า1ล้าน ต้องขายให้ People(คน) ไม่น้อยกว่า1000คน ต่อชิ้น

.

M 1,000,000 = P 1000 x V 1000

.

ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ มาจากกลยุทธ์ทางการตลาดและช่องทางการจำหน่ายหรือทำเลที่ตั้ง(Place) นั่นคือ คุณต้องทำให้สินค้ามีคนเห็นให้มากเข้าไว้ เพื่อที่จะทำให้ก่อเกิดคนซื้อ1000คนให้ได้ ถ้าออฟไลน์ก็ต้องเลือกทำเลที่ทำให้บรรลุผลได้ อาจใช้วิธีขยายสาขา หรือเพิ่มงบการตลาดด้วยการแจกใบปลิว โฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามจุดต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม

.

ถ้าเป็นออนไลน์วิธีที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้คนเพื่อให้เกิดโอกาสในการซื้อคือ Facebook Ads ซึ่งยิ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จำนวนมากเท่าไหร่นั่นหมายถึงโอกาสในการขายก็จะมากตามเท่านั้น

.

ซึ่งตัวแปรสำคัญของยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงคือ หากคุณวิเคราะห์จากสถิติแล้ว สมมุติว่าทุกๆการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย1หมื่นคน จะก่อเกิดการซื้อ 100คน เป็นประมาณนี้เสมอ ฉะนั้นการทำให้เกิดการซื้อ 1พันคน จะต้องทำให้เกิดการเข้าถึง1แสนคนให้ได้ ซึ่ง Facebook สามารถคำนวนได้เลยว่า ต้องใช้งบเท่าไหร่จึงจะเข้าถึงคนได้1แสน และแน่นอนหากคุณอยากขายให้มากขึ้นเรื่อยๆ คุณก็ต้องเพิ่มงบการตลาดให้มากขึ้น นี่คือวิธีการเทียบแบบบัญญัติไตรยางค์ นั่นคือยิ่งคนเห็นมากขึ้น โอกาสการขายก็ย่อมมากขึ้นตามเสมอ

.

ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ และค่าAds แพงหรือถูก มาจาก ปัจจัยที่เกิดจาก Content Marketing ล้วนๆ ฉะนั้นทุกธุรกิจต้องมีทักษะนี้ติดไว้ เพราะนี่คือจุดชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของธุรกิจออนไลน์ “Content is King” ตลอดกาล (ซึ่งผมมีบทความให้ความรู้ด้านนี้มากมายติดตามค้นหาจากเพจผมได้เลย)

.

และนอกจากการทำการตลาดผ่านFacebookแล้ว ยังมีช่องทางSEM (Search Engine Marketing) นั่นคือต้องทำ Google Adwords และ SEO เพื่อดึงคนที่สนใจในธุรกิจจริงๆให้เข้ามาซื้อ หรือต้องใช้ Influencer Marketing หรือกลยุทธ์อื่นๆอีกมากมายช่วยในการทำให้เกิดการซื้อ อันนี้ก็ว่ากันไปแล้วแต่แผนธุรกิจคุณ

.

(2) ทำการเพิ่มValue(คุณค่า)ของสินค้าเพื่อปรับราคา

.

นั่นหมายถึงทำการพัฒนาระดับของสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อที่สามารถตั้งราคาได้สูงขึ้น(Price) เช่นจากเดิม ชิ้นละ1พัน ก็ เพิ่มเป็น 2พัน ซึ่งนั่นหมายถึง หากเป้าคุณ1ล้าน คุณขายแค่ 500 คนก็สำเร็จได้แล้ว

.

ฉะนั้นหากคุณอยากได้เป้า1ล้าน ด้วยจำนวนคนซื้อที่น้อยลง ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

.

M 1,000,000 = P 500 x V 2000

.

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงการเพิ่มราคาสินค้าให้เกิดการซื้อได้ตามเป้า ต้องคำนึงถึงต้นทุนสินค้าเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่ ซึ่งหากปรับราคาขึ้น ต้องมองว่าลูกค้าเต็มใจจ่ายเพื่อยอมแลกกับคุณค่าที่เค้าได้เพิ่มขึ้นมาหรือไม่ และที่สำคัญคุณต้องมีสกิลความรู้เรื่องกลยุทธ์การตั้งราคา

.

(3) ทำให้เกิดการสั่งซื้อมากกว่า1ชิ้น

.

นั่นคือคุณต้องมีPromotion เช่นซื้อ 2ชิ้น รับส่วนลดพิเศษในการซื้อครั้งต่อไปหรือส่วนลดพิเศษ หรือ ซื้อ3แถม1 หรือ 2ชิ้นส่งฟรี หรือบัตรสะสมแต้ม เพื่อให้กลับมาซื้อซ้ำอีกครั้งเป็นต้น ซึ่งแน่นอนถ้า1คนมีการซื้อมากกว่า 1ชิ้น เป้าหมายคุณก็จะสำเร็จได้ง่ายขึ้น

.

ฉะนั้นหากคุณอยากได้เป้า1ล้าน ต้องทำให้การซื้อต่อคนมีจำนวนมากขึ้น

.

M 1,000,000 = P 250 x V (2000 x 2)

.

(4) เพิ่มประเภทสินค้าในธุรกิจให้มากขึ้น

.

เช่นปกติมีแค่สินค้าเดียว หากมีการเพิ่มสินค้า(Product) ประเภทอื่นๆเข้าไปในธุรกิจ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ก็จะเป็น 2ประสาน 3ประสาน ขึ้นอยู่กับมีสินค้ากี่ประเภท กี่ SKU วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีให้คุณสำเร็จตามเป้าได้เช่นกัน

.

ฉะนั้นหากคุณอยากได้เป้า1ล้าน ต้องมีสินค้าเพิ่มขึ้น

.

Product 1

M 500,000 = P 250 x V (2000 x 2)

.

Product 2

M 500,000 = P 250 x V (2000 x 2)

.

รวมทั้งหมด M= 1,000,000 ได้เช่นกัน

.

(5) ผสมกลยุทธ์ทั้ง4เข้าด้วยกัน 4P Strategy Mix

.

นั่นคือการใช้กลยุทธ์ทั้ง4 เพื่อเพิ่มพูนลูกค้าให้ทะลุเป้าหมายอย่างทวีคูณทั้ง 4มิติ อันได้แก่

.

5.1 ด้วยการเพิ่มประเภทสินค้าเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ Product

.

5.2 พัฒนาคุณภาพสินค้าจนสามารถปรับ Price ให้สูงขึ้นได้

.

5.3 หาจำนวนลูกค้าให้มากขึ้นด้วยการขยาย Place ให้มากขึ้น

.

5.4 ทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อมากกว่า1ชิ้นด้วย Promotion

.

จะเห็นว่านี่คือการนำ 4P อันได้แก่ Product Price Place Promotion มาเป็นตัวขยายโอกาสทั้ง4มิติ จนสามารถสรุปเป็นตัวเลขดังนี้

.

Product 1

P 1000 x V (2000 x 2) = M 4,000,000

.

Product 2

P 1000 x V (2000 x 2) = M 4,000,000

.

รวมยอดเงินทั้งหมด M= 8,000,000 บาท

.

จะเห็นว่าสมการ M = P x V หรือ

.

Money(เงิน) = People(คน) x Value(คุณค่า) มันสามารถยืดหยุ่นตามกลยุทธ์ได้เสมอ ยิ่งถ้าคุณสามารถพัฒนากลยุทธ์ให้ครบทั้ง4มิติ จะยิ่งเพิ่มทวีคูณความมั่งคั่งให้กับคุณได้แบบก้าวกระโดดทันที แต่ทั้งหมดอย่าลืมว่าต้องทำอย่างมี”สติ” อยู่เสมอ ห้ามคิดโลภจนเกินตัว

.

และนี่ละที่เรียกว่า “รู้งาน” รู้ว่าต้องทำงานแบบไหนจึงจะสำเร็จ และสามารถตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตให้คุณได้ ซึ่งจากสมการคุณสามารถประเมินได้ว่าธุรกิจที่คุณทำหรือจะทำ จะสร้างความมั่งคั่งให้คุณได้ระดับไหน ฉะนั้นก่อนทำธุรกิจ คุณต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้เสมอว่าธุรกิจนั้นๆที่คุณจะทำ สามารถตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตของคุณได้จริงหรือไม่

.

หลายคนทำงานแทบตายหวังให้ชีวิตสุขสบาย ด้วยวิธีการที่ไม่ส่งผลต่อเป้าหมาย การทำงานเหนื่อยหนักดิ้นรนสุดชีวิต ไม่ได้การันตีว่าชีวิตจะสำเร็จ เพราะถ้าวิธีการและกระบวนการไม่ใช่ยังไงก็ไปถึงเป้าหมายไม่ได้ เรียกว่า “ขยันผิดที่อีก10ปีก็ไม่รวย” จึงไม่แปลกที่หลายคนมักตัดพ้อว่าทำไมไม่สุขสบายสักที ทั้งที่มุ่งมั่นทำงานอย่างสุดชีวิต ซึ่งถ้าเค้าตั้งสติคิดหน่อยจะรู้ได้เลยว่า ความเพียรของเค้าได้ใช้ทิ้งไปกับวิธีการที่ไม่ใช่ตั้งแต่แรกก็เท่านั้นเอง

.

อย่างที่ผมเคยพูดไป คนเราอยากเป็นอะไรก็แค่สร้างมันขึ้นมา ชีวิตมันออกแบบได้ตามความคิดและการกระทำของเราเองเสมอ ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสไว้ว่า “จิตฺเตน นียติ โลโก” โลกหมุนไปเพราะความคิด ฉะนั้นชีวิตจะไปสู่ความเลว หรือดี ความจนหรือรวย ความคิดล้วนเป็นตัวกำหนดทั้งสิ้น ฉะนั้นตัวแปรแห่งความสำเร็จคือ ต้องคิดอย่างมีปัญญาและต้องมีสติมาควบคุมความคิดด้วยเท่านั้น!! จึงจะสำเร็จได้

.

และทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์สำคัญที่ก่อนคิดจะเริ่มธุรกิจ คุณต้องเข้าใจส่วนนี้อย่างถ่องแท้แล้วเท่านั้น นั่นคือ

.

รู้ตน>>รู้คน>>และรู้งาน

ซึ่งการจะทำให้รู้ตน รู้คน และรู้งานได้ ต้องผ่านการประเมินวิเคราะห์ใน4สิ่งหลักๆโดย

.

“รู้ตน” คือการทำวิจัยผลิตภัณฑ์ (Product Research)

.

“รู้คน”คือการวิจัยความต้องการของลูกค้า(Consumer Research)

.

“รู้ตนและคน”คือการวิจัยตลาด(Market Research)

.

“รู้งาน” คือการวางแผนธุรกิจ (Business Plan)

.

ซึ่งขั้นตอนนี้เปรียบเหมือนรากของต้นไม้ ยิ่งผ่านกระบวนการResearch อย่างเข้มข้นจนมั่นใจ รากก็ยิ่งแข็งแรงไม่มีวันล้ม กลับกันถ้าคุณมองข้ามในส่วนนี้ไปโอกาสที่รากจะเน่าพังทลายก็จะสูงขึ้นแน่นอน

.

ฉะนั้นจุดเริ่มของทุกธุรกิจต้องเริ่มจากกรอบของการประมาณตน นั่นหมายถึงการสร้างตนเพื่อให้พอเพียงกับเป้าหมายให้ได้ ฉะนั้นคุณต้องวิจัยและพัฒนา จนสามารถสร้างตนให้แข็งแกร่งพอที่จะพร้อมรบและพร้อมสู้เท่านั้น!! จึงจะไปสู่กรอบต่อไปได้ ขอให้จำไว้ว่าผู้ที่แข็งแกร่งพอและปรับตัวเก่งเท่านั้น จึงคู่ควรกับความสำเร็จ และนี่ละคือโลกแห่งธุรกิจ คนอ่อนแออย่าหวังว่าจะมีที่ให้ยืน

.

.

๒. กรอบการสร้างเหตุและผล (Process for Success)

.

นี่คือกฏแห่งธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าและพ่อหลวงทรงสอนมาโดยตลอด ว่าผลที่คาดหวังจะเกิดได้ ต้องมีกระบวนการที่มาจากเหตุเสมอ ซึ่งในทางธุรกิจการสร้างเหตุและผลคือ

.

การทำให้วิสัยทัศน์(Vision) >> ก่อเกิดเป็นพันธกิจ(Mission) >>และพันธกิจก่อเกิดเป็นการกระทำ(Action) >> ซึ่งการกระทำจะส่งผลไปสู่ผลลัพธ์(Result) >> และผลลัพธ์จะทำให้ก่อเกิดเป็นผล2ทาง ได้แก่ความสำเร็จ(Success)หรือความล้มเหลว(Fail)

.

โดยการที่จะสร้างความสำเร็จให้วิชั่นทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องสร้างกลยุทธ์ที่สามารถแข่งขันและขับเคลื่อนให้แบรนด์หรือสินค้า จนก่อเกิดเป็นผล4ประการขึ้น อันได้แก่

.

1 ต้องทำให้เป็นที่รู้จัก (Awareness)

.

2 ต้องทำให้เป็นที่สนใจ (Interest)

.

3 ต้องกระตุ้นให้เกิดการซื้อ (Purchase)

.

4 ต้องทำให้เกิดการบอกต่อหลังซื้อ (Advocacy)

.

ฉะนั้นอยากให้ธุรกิจสำเร็จ ก็ต้องมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategy) อย่างมีชั้นเชิง และมีกระบวนการและวิธีการ(Business Plan) อย่างยอดเยี่ยม สุดท้ายก็ต้องมีการลงมือทำอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง (Action Plan)

.

หากอยากหวังผลความสำเร็จก็ต้องสร้างกระบวนการสู่ความสำเร็จขึ้นมาอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเสมอ เพราะหากหวังแค่ผลที่จะได้รับ แต่วิธีการไม่สอดคล้อง ไม่ได้สร้างกระบวนการที่ส่งผลไปสู่ความสำเร็จได้ ยังไงก็ไม่มีทางจะสำเร็จได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นทุกกระบวนการทางความคิด ต้องอยู่ในกรอบของเหตุและผลเสมอ

.

.

๓. กรอบการสร้างภูมิคุ้มกัน (Risk Management)

.

ภูมิคุ้มกันที่ดี ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ชีวิตผลิตภัณฑ์ คู่แข่งขัน และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที

.

ก่อนอื่นผมขอยกตัวอย่างให้เห็นถึงวิชั่นการสร้างภูมิคุ้มกันของพระพุทธเจ้าและพ่อหลวง

.

ศาสนาพุทธคงสลายไปนานแล้ว ถ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้ ด้วยการให้เหล่าพระสาวกออกเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในจุดต่างๆที่ไม่ซ้ำกัน เพราะพระองค์ทรงรู้ดีว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ย่อมดับไป ฉะนั้นต้องเผื่อล้มเหลวไว้ให้มากที่สุด จนในที่สุดแม้อินเดียต้นกำเนิด ศาสนาพุทธจะล่มสลายไป แต่เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในประเทศไทยกลับมีศาสนาพุทธที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งอยู่มาได้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีการวางแผนสร้างภูมิคุ้มกัน

.

พ่อหลวงภูมิพลเช่นกัน นอกจากคำสอนมากมายในเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนเลยคือ พระองค์ทรงคิดค้นเกษตรทฤษฏีใหม่ ขึ้นมาด้วยสูตร 30:30:30:10 ซึ่งนอกจากการเตรียมความพร้อมเรื่องแหล่งเก็บน้ำเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงแล้งแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันด้านผลผลิตอีกด้วย เพราะเป็นการปลูกผลผลิตที่หลากหลาย ทำให้แม้ผลผลิตหลักจะมีผลกระทบเรื่องราคาตกต่ำ ก็ยังมีผลผลิตจากส่วนอื่นมาเป็นตัวชดเชยรองรับไว้ได้อีกชั้น และนี่คือการสร้างภูมิคุ้มกันที่พระองค์ทรงเห็นความสำคัญมาโดยตลอด

.

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฏแห่งไตรลักษณ์ เป็นสัจธรรมที่ทุกสิ่งในโลกนี้ต้องพบเจอ ธุรกิจก็เช่นกัน จุดเริ่มต้องเข้าใจและต้องรู้กลยุทธ์ในการรับมือ Product Life Cycle วัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยต้องมีกลยุทธ์เตรียมรับมือทั้ง4ช่วงอายุ

.

ต้องเตรียมกลยุทธ์ในขั้นแนะนำผลิตภัณฑ์

ต้องเตรียมกลยุทธ์ในขั้นตลาดเติบโต

ต้องเตรียมกลยุทธ์ในขั้นอิ่มตัว

ต้องเตรียมกลยุทธ์ในขั้นตกต่ำ

.

นอกจากนั้นต้องมีการติดตามคู่แข่งทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์สำหรับการแข่งขันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าคุณนำต้องทิ้งห่าง ถ้าคุณตามต้องเร่งแซง ฉะนั้นการติดตามคู่แข่งจึงเป็นการทำให้รู้ทัน เพื่อนำกลยุทธ์ใหม่ๆมาปรับแก้ทาง เพื่อสร้างเป็นภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน

.

โดยทุกอย่างต้องมีการเตรียมพร้อมพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ ผมจึงตั้งชื่อกลยุทธ์นี้ว่า “รู้เขา รู้เรา รู้โลก” ด้วยการต้องคอย Monitor ใน3เรื่องด้วยกัน คือ

.

(1) “รู้เขา” โดยรู้เขา ต้องรู้ในความเคลื่อนไหวใน2สิ่ง ของคู่แข่งคือ

.

1.1 ต้องรู้ผลตอบรับของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์คู่แข่ง ว่าเป็นอย่างไร หากมองลบในจุดไหน ก็ให้คุณขยายจุดแข็งที่ดีกว่าเรื่องนั้นๆขึ้นมา เช่นคู่แข่งโดนวิจารณ์เรื่องการบริการ ก็ให้คุณเสริมนโยบายบริการเข้าไปชู แต่ต้องอยู่ในกรอบของคุณธรรมห้ามโจมตีคู่แข่งแต่ให้นำมาพัฒนาตนเองแทน และถ้าคู่แข่งได้รับคำชมในจุดไหน ก็ให้คุณพยายามพัฒนาให้ก้าวล้ำไปอีก1ระดับให้จงได้

.

1.2 ต้องรู้ความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง ว่าเค้าทำอะไรบ้าง ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหน ออกคอนเทนท์แนวไหน กำลังวางแผนอะไร คุณต้องจับทางให้ได้ เพื่อสามารถดักทางแก้เกมส์ได้

.

(2) “รู้เรา” ต้องรู้ผลตอบรับของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์คุณ ว่าเป็นอย่างไร หากมองลบต้องรีบปรับปรุงแก้ไข หากมองบวกต้องรีบนำจุดแข็งมาส่งเสริม

.

(3) “รู้โลก” ต้องรู้เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคว่ากระแสช่วงนี้สนใจเรื่องอะไร เทรนด์รูปแบบไหนกำลัังมา กำลังฮิตในเรื่องอะไร เพราะถ้าคุณรู้เรื่องเหล่านี้ ก็จะสามารถออกรูปแบบบริการให้ตรงใจได้ รวมถึงสามารถนำมาออกแบบเป็นคอนเท้นท์ให้ทันยุคสมัยได้ตลอดเวลา

.

และนี่คือ กลยุทธ์ รู้เขา รู้เรา รู้โลก จะเห็นว่าทั้ง3รู้ เป็นหลักการของพุทธศาสนาคือการอยู่กับปัจจุบัน จะเป็นการมองในปัจจุบันทั้ง3ด้าน เพื่อเป็นไกด์ไลน์การวางแผนในอนาคต ซึ่งวิธีนี้เป็นการสร้างภูมิด้วยการไม่ยอมหยุดนิ่ง แต่ต้องก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆแบบไม่มีหยุด เพราะถ้าหยุดก็จะโดนทิ้งห่างทันที

.

นอกจากนั้นคุณต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงในทุกรูปแบบ โดยต้องกำหนดแผนสำรอง สำหรับสถานะการไม่เป็นใจอยู่เสมอ เพราะเมื่อถึงเวลาประสบปัญหาจริงสามารถดึงแผนมาใช้ได้ทันที โดยสามารถ ตั้งแผนฉุกเฉิน เช่นกรณีสินค้าผลิตไม่ทัน เงื่อนไขการรับประกันสินค้า กรณีไม่สามารถขายได้ตามเป้า กรณีโดนคู่แข่งโจมตี หรือ กรณีงบการเงินติดขัดหมุนไม่ทัน เป็นต้น คุณต้องมีแผน 1,2และ3 สำรองพร้อมวิธีแก้ไขไว้แล้วทั้งหมด

.

การสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจจะขาดการวางแผนในส่วนนี้ไปไม่ได้เลย ซึ่งเปรียบเหมือนการได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไว้แล้ว ทำให้โอกาสล้มเหลวลดลง แต่จะดีกว่านี้ถ้าคุณรู้จัก สร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน ด้วยการหมั่นพัฒนาตนเองและองค์กร ด้วยการคอยเติมความรู้อยู่เสมอ สิ่งนี้เปรียบเหมือน การหมั่นออกกำลังกายและการหมั่นคอยดูแลสุขภาพทั้งทางกายและใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นจากภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด

.

.

และทั้งหมดนี้ คือ3กรอบภาพใหญ่ แห่งศาสตร์พระราชา ที่เป็นตัวควบคุมธุรกิจแบบรอบด้าน สามารถอุดช่องโหว่ได้ทั้งหมด จึงจะเห็นได้ว่าแค่เราเดินตามสิ่งที่พ่อสอน เราก็สามารถเจริญรุ่งเรืองในกิจการงานได้แบบมั่นคงและยั่งยืนอย่างแน่นอน

.

.

และนี่ภาพรวมของ3กรอบภาพกว้างๆ ที่มีเนื้อหาเพียงแค่น้ำจิ้ม ของเนื้อหาการสร้างธุรกิจด้วยศาสตร์แห่งพระราชาTHE KING’S PHILOSOPHY (For Business Model Mix) หากอยากเรียนรู้เนื้อหาในโมเดลทั้งหมดที่เหลืออย่างละเอียด รอติดตามจากเพจนี้ที่นี่ ที่เดียวเท่านั้น ในเร็วๆนี้

.

.

เพื่อไม่ให้พลาดตอนต่อๆไปของศาสตร์พระราชา

.

อย่าลืม!! กดติดตามและกดเห็นโพสต์ก่อน(See First) ไว้ด้วยนะครับ

.

คุณได้อะไรจากศาสตร์พระราชาในแบบฉบับของผมบ้าง

.

แล้วอย่าลืมติดตามตอนต่อไปครับ

.

.

.

เนื้อหาโดย AcTioN Biz Buddy